ระหว่างรอคณะรัฐมนตรีชุด เศรษฐา 1 ที่น่าจะเสนอแต่งตั้งได้ภายในเดือน กันยายน 2566 นี้ เราจะวิเคราะห์ว่า นโยบายรัฐบาลชุดนี้ จะเป็นคุณเป็นโทษ กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือไม่ อย่างไร เราคงต้องกลับไปดูนโยบายทางด้านที่ดินและที่อยู่อาศัยที่พรรคแกนนำในการจัดตั้งในครั้งนี้ ได้เคยหาเสียงไว้ว่ามีนโยบายเด่น ๆ อะไรบ้าง คงต้องเริ่มที่ พรรคเพื่อไทย ก่อนเลย เพราะนอกจากจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แล้ว นายกเศรษฐา ยังจะควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสียเองด้วย นัยว่าเพื่อจะได้มีความสะดวกในการออกนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเงินดิจิตอล 10,000 บาท และ นโยบายอื่น ๆ ที่มีผลต่อปากท้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ที่มา : เนชั่นออนไลน์ ข้อมูล ณ 28 สิงหาคม 2566
พรรคเพื่อไทย มีนโยบาย เร่งรัดออกโฉนด แก้กฎหมาย พิสูจน์สิทธิ์จัดหาที่ทำกิน 50 ล้านไร่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั่วประเทศ
หลักคิด
1. ประชาชนทุกคนต้องมีที่ดินเป็นของตนเอง เกษตรกรทุกครัวเรือน จะมีที่ทำกินอย่างพอเพียง
2. ดำเนินการให้มีการออกโฉนดให้กับประชาชน 50 ล้านไร่ โดยแปลงที่ดินที่มีความขัดแย้ง ไปเป็นที่ดินวนเกษตร ต้นไม้ทุกต้นมีราคา
3. ที่ดินที่เป็นโฉนดจะถูกใช้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน นำไปสู่สภาวะเป็นกลางทางคาร์บอน และสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต
ซึ่งโดยรวม นโยบายของพรรคเพื่อไทย เป็นการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน และเป็นเกษตรกรรม เป็นหลัก มากกว่านโยบายด้านที่อยู่อาศัยของคนเมือง ที่ยังไม่ปรากฏนโยบายด้านนี้อย่างเป็นรูปธรรม เท่ารัยนัก
พรรคภูมิใจไทย นโยบายพรรคอันดับสองของรัฐบาลชุดนี้ คือ การนำนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่สามารถต่อ
ยอดไปสู่การพัฒนาเมืองในระดับภูมิภาค และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งนโยบาย Wellness Resort of The World รักษาเมืองหลัก ฟื้นฟูเมืองรอง ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายแห่งการรักษา พักผ่อน และ ฟื้นฟู ร่างกายจิตใจ ของประชากรโลก นอกจากนี้ยังมีนโยบายสร้าง Landbridge อ่าวไทย-อันดามัน ยกระดับการคมนาคมของประเทศ ผลักดันรถเมล์ไฟฟ้า เพื่อลด PM 2.5 และจะเปลี่ยนระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมด ให้มาเป็นรถไฟฟ้าภายใน 3 ปี
พรรครวมไทยสร้างชาติ มีนโยบายพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สานต่อมาจากรํฐบาล พล.อ. ประยุทธ มีโครงการ บ้านประชาสุข โดยมีเป้าหมายสร้างบ้านประชาสุข 1 แสนหลัง ภายใน 5 ปี พร้อมกับนโยบายสนับสนุนสินเชื่อบ้านล้านหลัง สำหรับผู้มีรายได้น้อย , เฟสที่ 3 โครงการบ้านมั่นคง ริมคลองเปรมประชากร , โครงการฟื้นฟูแฟลตดินแดง เฟส 2, การเดินหน้าพัฒนาทำโครงสร้างพื้นฐาน EEC ระเบียงเศรษฐกิจใหม่ 4 ภาค และ การแก้ปัญหาได้ที่ทำกิน ไม่โดนไล่ที่ ไม่ถูกฟ้อง
พรรคพลังประชารัฐ มีนโยบายโครงการ บ้านสุขใจวัยเกษียณ ให้กับผู้สูงอายุวัยเกษียณ การสร้างเมืองอัจฉริยะสีเขียว มีการนำโมเดลของการพัฒนาพิเศษ EEC มาต่อยอดสู่ภูมิภาคอื่น ๆ เช่น อีสาน 4.0 , ล้านนา 4.0 และ ด้านขวาน 4.0 , โครงการสร้างเมืองน่าอยู่ ใกล้บ้านมีงานทำ ด้วยแนวคิด 15 เมืองหลัก 15 เมืองรอง พยายามจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างที่อยู่อาศัย พัฒนาย่านธุรกิจ รวมถึงการสร้างเมืองสีเขียว การจัดสิทธิที่ทำกินให้กับเกษตรกร
จากการพิจารณานโยบาย 4 พรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ต้องเรียกว่านโยบายเป็นไปในทิศทางเดียวกันเกือบทั้งหมด โดยมี 2 แนวทางหลักของนโยบาย แบ่งเป็น
- ถ้าเป็นชนบท ก็จะออกมาแนวการจัดกรรมสิทธิ์ที่ทำกิน การลดโลกร้อน เพื่อตอบสนองฐานเสียงของตน โดยต่างจังหวัดที่เกษตรกรรม และ เกษตรกร ยังเป็นฐานเสียงหลักอยู่ จะขาดนโยบายเอาใจรากหญ้าเป็นไปไม่ได้
- ถ้าเป็นฐานเสียงในเมือง ก็จะเป็นนโยบายสร้างที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และการสร้างที่อยู่อาศัยให้คนจนเมือง ต่าง ๆ ตลอดจนนโยบายที่ได้ทั้งฐานเอกชน คือ การสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่สนับสนุนทั้งการลงทุน และ อำนวยความสะดวกให้แก่ ผู้อยู่อาศัยในเมืองที่เผชิญกับปัญหาการจราจรติดขัด และต้นทุนการเดินทางระหว่างวันที่สูงติดอันดับโลกอยู่ในขณะนี้ ก็น่าจะโกยคะแนนเสียงคนเมืองไปได้ไม่ใช่น้อยทีเดียว
โดยรวม ๆ ถือว่านโยบายของพรรคแกนนำ น่าจะเอื้อประโยชน์ต่อทั้งนักลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ และ
ประชาชนในแทบทุกระดับของประเทศ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองเสียที แต่ว่ากันไป ในปัจจุบันการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องมีการขออนุญาตจากกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานราชการไทยหลายหน่วยงาน การทำโครงการแต่ละโครงการ ต้องติดต่อหน่วยราชการ 10-20 หน่วยงานเป็นอย่างต่ำ ตัวอย่างเช่น การทำโครงการคอนโดมิเนียมสัก 1 โครงการ ก็ต้องเริ่มจากการขอใบอนุญาตก่อสร้างจากกทม. ใบอนุญาต EIA จากสำนักคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) กระทรวงทรัพย์ฯ ถ้ามีเชื่อมทางก็แล้วแต่ว่าทางนั้นอำนาจของหน่วยใด เชื่อมท่อระบายน้ำก็เช่นเดียวกัน ขยายเขตไฟฟ้าก็ต้องการไฟฟ้า ขอน้ำประปาก็การประปา ถ้ามีทางหรือที่ดินรัฐมาขวางหน้าที่ดินและโครงการต้องการออกสู่ทางสาธารณะก็มีทั้ง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) หรือราชพัสดุต่าง ๆ และก็ต้องตรวจสอบให้ดีว่าหน่วยงานเหล่านั้นอนุญาตได้จริงรึป่าว อย่างกรณี โครงการแอชตัน อโศก ก็เห็นเป็นบทเรียนกันอยู่ว่ามีปัญหาเช่นไร และถ้าสุดท้ายก่อสร้างทุกอย่างเรียบร้อยจะต้องไปโอนให้ลูกค้า ก็ต้องไปที่สนง.ที่ดิน ภายใต้กระทรวงมหาดไทย โดยใช้ราคาประเมินของกระทรวงการคลังเพื่อเสียภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นว่าแต่ละขั้นตอนก็ยุ่งยากซับซ้อนและเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ภาคเอกชนเองก็เคยเรียกร้องขอ one stop service กันมากว่า 30 ปี ก็ไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด ไม่มีรัฐบาลไหนตอบสนอง ก็ยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ว่าที่ทำไม่ได้ เพราะมันทำไม่ได้จริง ๆ หน่วยงานรัฐก็บอกแต่เพียงว่ากฎหมายถือคนละฉบับ ต้องแก้กันวุ่นวาย เค้าไม่มีอำนาจจะทำได้ขนาดนั้น หรือเอาจริง ๆ ให้มันยุ่งยากซับซ้อนแบบนี้แหละดีแล้ว มันจะได้มีช่องทางทำมาหากินได้สะดวกดี
ดังนั้นรัฐบาลแบบพรรคร่วมแบบนี้ ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็กระจัดกระจายกันไปตามโควต้าแต่ละพรรค ทำให้ขาดเอกภาพในการทำงานเข้าไปอีก โอกาสที่บูรณาการจริง ๆ เห็นจะเป็นเรื่องยาก บางคนบอกว่า คราวนี้เป็นโอกาสดีของ Developer เลยนะ เพราะนายกเศรษฐาเป็น Developer เก่าเข้าใจเรื่องนี้ คงจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดไม่ต้องมาอธิบายกันให้เสียเวลา ซึ่งถ้าเอาจริง ๆ บางทีก็อาจจะทำได้นะ แต่อีกด้านนึงของเหรียญคือ นายกเศรษฐา อาจจะไม่กล้าแตะต้องเรื่องพวกนี้เลยก็ได้ เพราะคงมีคนคอยจับผิดว่า แก้กฎหมายเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องนั่นเอง ก็คงต้องตามลุ้นกันต่อไปว่า คราวนี้จะออกหัวหรือก้อยกันแน่
THE BANGKOK RESIDENCE
"Real Estate for Happiness"
Contact us now
Call Center : 1319
Line @bkkresidence