ปีใหม่ตึงตังตู้มต้าม ในคอนโด
ลมเย็นพัดมาแล้ว ได้กลิ่นมาแต่ไกล ชื่นใจผุดๆ ยิ่งอากาศบนอาคารสูง ลมพัดเย็น เห็นแสงไฟ แลดูพลุ สำหรับผู้พักอาศัยในคอนโด ยิ่งอยากจัดงานเลี้ยงสังสรรค์เล็กๆ หรือกิจกรรมพิเศษในห้องของตัวเอง เมื่อมีโอกาสสำคัญ แต่คำถามที่หลายคนสงสัย รวมถึงเพื่อนห้องข้างเคียงที่ไม่ได้รับเชิญ อาจตั้งคำถามว่า คุณ “จัดงานเลี้ยงหรือจุดพลุได้ไหม?” เออจริง... แล้วเราจะจัดงานเลี้ยงในคอนโดได้หรือไม่ได้?
การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ในคอนโดมิเนียมสามารถทำได้ ตราบใดที่เป็นการใช้พื้นที่ส่วนตัวและไม่ก่อให้เกิดการรบกวนผู้อยู่อาศัยคนอื่นเกินสมควรโดยปกติคอนโดมักมีข้อบังคับจากนิติบุคคลที่กำหนดให้ผู้พักอาศัยต้องรักษาระดับเสียงไม่ให้ดังเกินไป ห้ามใช้เครื่องขยายเสียงที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้อื่น หรือกำหนดเวลาที่ไม่ให้จัดงานในช่วงกลางคืน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและความสุขของทุกคนที่อยู่ในอาคารเดียวกัน แต่ว่าเจ้าของห้องชุดต้องไม่ก่อความเดือดร้อนเกินสมควรให้แก่ผู้อยู่อาศัยคนอื่นๆ เพราะหากงานเลี้ยงมีเสียงดังมากหรือละเมิดความสงบสุขของผู้อยู่อาศัยคนอื่น เจ้าของห้องชุดอาจถูกนิติบุคคลเรียกเตือน หรืออาจถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตักเตือนแทน หากมีการร้องเรียนก็เป็นได้ เพราะการส่งเสียงดังรบกวนไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย เปิดเพลง งานเลี้ยงสังสรรค์ หรือมีกิจกรรมใดที่มีเสียงดังโดยไม่มีเหตุจำเป็น อาจถือเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาได้ เพราะการส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
จุดพลุหรือปล่อยโคมไฟจากห้องคอนโด: เสี่ยงผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม แม้การจัดงานเลี้ยงจะพอทำได้หากควบคุมเสียงและกิจกรรม แต่การจุดพลุไฟหรือการปล่อยโคมลอยจากห้องชุดถือเป็นการกระทำที่มีความเสี่ยงสูงและต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการจุดและปล่อยพลุ โคมลอย โคมไฟ และวัตถุอื่นที่คล้ายคลึงกัน พ.ศ. 2562 กำหนดว่าผู้ใดต้องการจุดพลุในเขตเมืองหรือในบริเวณใกล้ชุมชนต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเสียก่อน เพราะการจุดพลุมีความเสี่ยงสูงทั้งด้านความปลอดภัยจากไฟไหม้ การระเบิด และการตกลงมาทำอันตรายต่อผู้อื่น นอกจากนี้ การจุดพลุในที่สูง เช่น ระเบียงห้องในคอนโด อาจขัดต่อกฎหมายป้องกันอัคคีภัยด้วย เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ง่าย รวมถึงยังอาจกระทบต่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยคนอื่นๆ ในอาคาร ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุ อาจมีผลทางกฎหมายทั้งในแง่การถูกปรับหรือแม้กระทั่งรับผิดทางอาญาได้
ในอดีตมีกรณีศึกษาที่ศาลต้องพิจารณาความเหมาะสมเกี่ยวกับการจัดงานเลี้ยงในคอนโดที่ส่งเสียงดังจนผู้อยู่อาศัยคนอื่นได้รับความเดือดร้อน ศาลได้พิจารณาให้เจ้าของห้องชุดผู้จัดงานเลี้ยงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของนิติบุคคลโดยให้ลดระดับเสียง และดำเนินการตามมาตรการที่นิติบุคคลกำหนดเพื่อไม่ให้รบกวนผู้อยู่อาศัยคนอื่น ในอีกกรณีหนึ่ง มีการจุดพลุจากห้องของคอนโด ซึ่งทำให้ผู้อยู่อาศัยคนอื่นตกใจและได้รับความเสียหาย ศาลได้พิจารณาให้ผู้จุดพลุต้องรับผิดชอบและดำเนินการตามกฎหมายเนื่องจากเป็นการกระทำที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น
ดังนั้น หากคุณต้องการจัดงานเลี้ยงในคอนโด ควรปฏิบัติตามข้อกำหนดของนิติบุคคลอย่างเคร่งครัด ทำด้วยความระมัดระวังและเคารพสิทธิของผู้อื่น เช่น การแจ้งล่วงหน้าเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น การลดระดับเสียงให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงการรบกวนเพื่อนบ้านในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ส่วนการจุดพลุไฟ ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการจุดในคอนโด และหากต้องการเฉลิมฉลองจริงๆ ควรเลือกพื้นที่กลางแจ้งที่เหมาะสมและได้รับอนุญาตแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทั้งในแง่กฎหมายและความปลอดภัย ไม่เห็นแก่คนก็เห็นแก่_มา ที่ต้องวิ่งหนีหางจุกตูดละกันนะครับ ใกล้สวัสดีปีใหม่แล้ว ขอไทยจงแคล้วโพยภัย.. แล้วพบกันปีหน้าฟ้าใหม่ครับ อย่าลืมนะครับ!! หากคุณไม่ชำนาญหรือไม่มีเวลาหรือกำลังมองหาที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์มืออาชีพ เราบริษัท เดอะ บางกอก เรซิเดนซ์ 88 จำกัด ยินดีให้บริการทุกท่านครับ ติดต่อเราได้เลยที่หมายเลขโทรศัพท์ 1319 แล้วพบกันครับ
กิตติภัต ลักษณพิสุทธิ์
2023 thebkkresidence.com. All Rights Reserved